The Unsung Street Heroes Story

Punnapa Yoswaris
3 min readApr 25, 2021

--

เรื่องราวของฮีโร่ประจำถนน ผู้พิทักษ์ความสะอาด

ในวันที่โลกของเราเปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เราต่างต้องเรียนรู้กับ “ความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal” ซึ่งทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การพกเจลแอลกอฮอล์ การต้องทำงานอยู่บ้าน แพลนต่าง ๆ ที่เคยวางไว้ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เราต่างเป็นผู้ได้รับผลกระทบในทางใดทางหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น แต่หากผลกระทบนี้มันมีความรุนแรงต่างกัน ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสฟังพอดแคสต์จาก Mission To The Moon ในตอนที่ MM865 ค่าแรง โควิดและภาษี ทำให้ได้เปิดมุมมองว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความปกติใหม่ ยังมีอีกหลายต่อหลายกลุ่มในสังคมที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่บน “ความไม่ปกติ” พวกเขายังคงต้องออกไปทำงาน และเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขาต่างเป็นคนตัวเล็ก ๆ ค่าแรงน้อย แต่การทำงานของพวกเขาส่งผลทำให้เมืองหรือประเทศเดินต่อไปได้ และเมื่อหันกลับมามอง เขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนที่ใส่ชุดยูนิฟอร์มอย่างคุ้นตา ที่ต้องกวาดถนนตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงเวลากลางคืน นั่นคือ “พนักงานกวาดถนน”

ซึ่งจากความสนใจหลังจากได้ฟังเรื่องราวในพอดแคสต์ และมีโอกาสได้เรียนวิชา Advanced Public Policy Analysis โดย อ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ และ อ.ดร.ชฎิล โรจนานนท์ ที่ได้ให้พวกเราหยิบยกกลุ่มในสังคมมา 1 กลุ่ม แล้วใช้เครื่องมือ Design Thinking เข้าไปทำความเข้าใจและคิดนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งกลุ่มของเรา (ที่มีการชักจูงเพื่อน ๆ) ก็ได้เลือกที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องของพนักงานกวาดถนน และอยากที่จะมาแชร์เรื่องราวที่พวกเราได้ไปสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในขั้นตอน Empathy ในบล็อกอันนี้

ก่อนอื่นเลยอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับอาชีพของพนักงานกวาดถนนให้มากขึ้น โดยในการทำงานของพนักงานกวาดถนนนั้นจะมีการดูแลรับผิดชอบในพื้นที่แตกต่างกันไป ขอบเขตตั้งแต่ 500–1,000 เมตร มีการแบ่งเวลาปฏิบัติงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า ตั้งแต่ 05.00 –13.00 น. และช่วงบ่าย ตั้งแต่ 13.00–21.00 น.ครอบคลุมตั้งแต่ท้องถนน ทางเท้า สะพานลอย ตะแกรงรองรับน้ำฝน รวมถึงสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ เช่น ตู้ไปรษณีย์ เสาไฟฟ้า ป้ายจราจร และที่พักผู้โดยสาร เป็นต้น

แต่ภาระงานยังไม่จบเท่านั้น เพราะยังต้องดูแลรักษาต้นไม้ สวนหย่อม และคอยรายงานความบกพร่องของทางเท้า การโค่นหักของต้นไม้ รวมถึงความบกพร่องของสาธารณสมบัติที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย

ในส่วนค่าตอบแทนของการทำงานนั้น จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 12,000 บาท ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว โดยที่ลูกจ้างประจำจะมีการปรับขั้นเงินเดือน และมีสวัสดิการที่ดีกว่าลูกจ้างชั่วคราว

ตารางงานของเหล่าฮีโร่

หลังจากที่เราได้เห็นภาระหน้าที่ของพี่ ๆ พนักงานกวาดถนนกันแล้ว อยากจะพาทุกคนมาดู Journey Map เพิ่มเติม หรือจะเรียกว่าเป็นตารางชีวิตประจำวันของพนักงานกวาดถนนก็ได้ ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มทำงานตอนตี 5 แต่พวกเขาจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด และขับมอเตอร์ไซด์ออกมาบริเวณที่ทำงาน แล้วเริ่มกวาดทั่วบริเวณซึ่งจะเสร็จประมาณ 8 โมง จึงได้มีเวลานั่งพัก แล้วเริ่มงานใหม่อีกครั้งในช่วง 9 โมง จนหัวหน้ามาตรวจงาน แล้วจึงสามารถเลิกงานได้ตอนบ่ายโมง หรือรวมแล้วต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมงนั่นเอง

Street Heroes Journey

ฮีโร่ที่มีแค่เสื้อกั๊กสะท้อนแสง

มาถึงตรงนี้เราจะเริ่มเห็นปัญหา หรือ pain point กันบ้างแล้ว นั่นคือ ความอันตรายในการทำงาน จากการออกมาทำงานตั้งแต่เช้ามืด และแสงสว่างจากไฟถนนนั้นไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่มีแผงกั้นหรืออุปกรณ์ป้องกันในการทำงาน มีเพียงเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งผู้ขับขี่บนถนนไม่ได้สังเกตเห็น หรือขับขี่ไม่ระมัดระวังซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุ การเฉี่ยวชน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในรูปแบบมิจฉาชีพ และมลพิษ PM 2.5 อีกด้วย

ส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์
“ถ้าถามในความรู้สึกพี่นะ มันไม่โอเคหรอก งานพี่มันเหนื่อย และมันก็หนัก มันเสี่ยง ความเป็นความตายเท่ากัน เพราะมากวาดตี 5 อย่างนี้มีคนโดนรถชนก็บ่อย เช่น พวกทำงานท้ายรถขยะ กวาดขยะ พวกเมาแล้วก็มาชนมันก็มี”

ยิ่งในช่วงของการระบาดโควิด-19 นั้น ยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการทำงานของพนักงานกวาดถนนมีมากขึ้น แต่พวกเขายังต้องออกไปทำงานทุกวัน รวมถึงยังต้องเผชิญกับขยะที่เพิ่มมากขึ้น ในการเก็บกวาดขยะหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทิ้งตามถนน

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์พนักงานกวาดถนน วัย 37 ปี
“แล้วยิ่งโควิดพวกพี่กลัวกันหมดเลยทุกคน ผ้าแมสก็ทิ้งกันเกลื่อนเลย แล้วบางคนก็ถุยน้ำลายอะไรแบบนี้ เชื่อไหมพวกพี่ไปซื้อข้าวกิน แม่ค้ายังไล่พวกพี่เลยเพราะว่ากลัว กลัวว่าจะติดจากพวกพี่ มันเป็นอะไรที่น่ารังเกียจหมดเลยนะ ถามว่าน้อยใจไหมมันก็น้อยใจนะ พวกพี่กินภาษีประชาชนก็จริง แต่ถ้าไม่มีพวกพี่ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์พนักงานกวาดถนน วัย 25 ปี
“กลัว ความเสี่ยงมันมีอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าขยะติดเชื้ออะไรพวกนี้เขาก็ไม่ได้แยกลงมา เขาก็ทิ้งไว้ข้างล่าง เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นไม่เป็น แล้วเราต้องหยิบจับ เก็บให้เขาเพราะเป็นหน้าที่ของเราไง ถ้าเราไม่เก็บก็ไม่มีใครทำเลย”

ปวดแล้วปวดอีก

จากภาพที่คุ้นตาที่มักเห็นพนักงานกวาดสะพายบุ้งกี๋และไม้กวาดเดินบริเวณถนน นำมาสู่ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพที่เราในฐานะประชาชนทั่วไปอาจไม่เคยได้รู้มาก่อน นั่นคืออาการปวดบริเวณร่างกาย เพราะมีลักษะการทำงานที่ต้องใช้ข้อศอก แขน หัวไหล่ซ้ำ ๆ และกวาดถนนเป็นเวลานาน

ซึ่งจากงานวิจัย ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการผิดปรกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างในพนักงานกวาดถนน กรุงเทพมหานคร โดย สุรีรัตน์ ธีระวณิชตระกูล และ พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ได้มีการศึกษาปัญหาสุขภาพของพนักงานกวาดถนน พบว่า ลักษณะการทำงานนี้ ทำให้เกิดอาการผิดปรกติของระบบกล้ามเนื้อ และกระดูกโครงร่าง ซึ่งสามารถแสดงผลได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวตามมา รวมถึงยังต้องเผชิญกับความร้อน เสียงดัง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก สารอินทรีย์ระเหยง่ายจากท่อไอเสียรถยนต์ เชื้อโรคต่างๆ ที่มีอยู่ในขยะมูลฝอย และมีความเครียดอีกด้วย

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์พนักงานกวาดถนน วัย 56 ปี
“เมื่อก่อนเคยรับจ๊อบเสริม แต่ตอนนี้แขนเรามันไม่ไหวแล้วลูก ช่วงหน้าฝน เวลาสะพายบุ้งกี๋แล้วกวาดไปด้วย แขนเรามันจะดัน แล้วมันจะปวด เป็นก้อนเนื้องอก เดี๋ยวอาทิตย์หน้าหมอนัดผ่าตัด รักษามาสองปีไปหายเลย พังผืดก็เป็นมาแล้ว ก็ฉีดยา ช่วยแก้ปวด แต่มันไม่หาย”

เงินมีแต่ไม่พอใช้

ในด้านรายได้พนักงานกวาดถนนทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินคนละประมาณ 12,000 บาท และจะได้ค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานเฉพาะวันอาทิตย์เป็นจำนวน 420 บาท นอกจากนี้หากพนักงานกวาดถนนที่เป็นลูกจ้างประจำไม่ได้มีการลางานเกิน 18 ครั้งต่อเดือน จะได้รับการปรับเงินเดือนตามขั้น ปีละ 2 ครั้ง ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราวจะมีเงินเดือนตายตัว

แต่ แต่ แต่ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 ครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 33,408 บาทต่อเดือน เลยทีเดียว ทำให้พนักงานกวาดถนนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องออกไปทำงานเสริมเพิ่มเติมหลังจากกวาดถนนเสร็จ ซึ่งพนักงานบางคนต้องทำงานถึง 3 ที่ถึงจะมีรายได้เพียงพอ

ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า
“เงินน้อย ต้องทำงานถึงสามที่นะ ถึงจะอยู่ได้ อย่างเช่นเลิกบ่ายใช่ไหม เราก็จะไปหางานทำที่อื่น เพราะเงินเดือนหมื่นต้น ๆ มันอยู่ไม่ได้หรอก ไหนจะลูกไหนจะอะไรอีก ทุกคนต่างหารายได้พิเศษกันหมดหลังจากเลิกงานเที่ยง บางคนก็ไปกวาดหมู่บ้านบ้าง บางคนก็ไปรับทำความสะอาดล้างถ้วยล้างจานไรงี้ค่ะ”

และผู้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า
“พี่ไปขายของ ขายลูกชิ้นปิ้ง แถวหน้าร้านทองหัวมุมตรงป้อม เพราะเงิน กทม.มันไม่พอหรอกหนู เงินเดือนรับแค่หมื่นต้น ๆ”

ในส่วนของสวัสดิการนั้น จะมีความแตกต่างระหว่างลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ โดยที่ลูกจ้างประจำจะได้สวัสดิการมากกว่า เช่น เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร บำเหน็จบำเหน็จพิเศษ และเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เป็นต้น โดยเฉพาะในเรื่องของสวัสดิการ การรักษาพยาบาล ที่เป็นสิ่งจูงใจให้หลายคนทำอาชีพพนักงานกวาดถนน แม้ว่าอาชีพนี้จะมีเงินเดือนที่น้อยก็ตาม

ส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์
ถามว่าคุ้มเงินเดือนไหมมันก็ไม่ ถามว่าโบนัสมีไหมก็เพิ่งจะมี แต่มันก็ไม่ได้เยอะ ที่ยังทำตรงนี้อยู่เพราะสิทธิเบิกเท่านั้น และอนาคตของลูกที่ลูกจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ พ่อแม่รักษาฟรี จนเราอายุ 60 ปี อย่างน้อยพ่อแม่เกษียณไปเราก็รับช่วงต่อ แม่เราก็รักษาฟรี เมื่อก่อนทำงานออฟฟิศ แม่ก็พูดอยู่คำนึงว่าต่อให้มีเงินมากแค่ไหน แล้วถ้าเกิดแม่ป่วยนาน ๆ รักษาตัวนาน ๆ เงินตรงนั้นมันก็หมดไป ก็เลยมาทำงานตรงนี้ค่ะ”

ไม่ว่าวันที่โลกจะดีหรือร้าย ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังต้องตื่นแต่เช้า ออกมาดูแลพิทักษ์รักษาความสะอาดให้กับพวกเรา พวกเขาไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นฮีโร่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงที่คอยดูแลหน้าบ้านและเมืองของเราให้สะอาดเรียบร้อย

พวกเขาเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่มาพร้อมกับแขนที่ปวดเมื่อย เพื่อจัดการกับสิ่งสกปรก แต่พวกเขาคงยังกวาดถนนเรื่อย ๆ ในทุกวัน เพื่อให้คนอีกเป็นล้านได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุข

พวกเขายังเป็นด่านหน้าที่ต้องเจอกับเชื้อโรค ฝุ่นควัน อันตรายมากมาย แต่ก็ยังต้องทำงานในวันที่คนอื่นได้หยุดอยู่บ้าน

พวกเขาเองยังเป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นที่รักของใครสักคนบนโลก

พวกเขาคือฮีโร่ที่ดูแลถนนของ

พวกเขาคือ “พนักงานกวาดถนน”

สุดท้ายแล้ว

In a world where you can be any thing, be nice.

ในวันที่เราสามารถเป็นทุกอย่างบนโลกใบนี้ได้ อย่าลืมใจดีให้กับคนรอบข้าง อย่าลืมที่จะแยกขยะ ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน โดยเฉพาะกับหน้ากากอนามัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอย่าลืมที่จะปฏิบัติกับคนที่ดูแลความสะอาดให้เราอย่างให้เกียรติ เพราะมีพวกเขาทำงานตอนที่เราหลับ เราถึงตื่นมามีถนนที่สะอาด มีสุขอนามัยที่ดี

พวกเขาคือฮีโร่ประจำถนน ผู้พิทักษ์ความสะอาด

เนื้อหาโดย
ชญานี แก้วเก้า
ชุฮาดา ตอลีบี
ธัชพรรณ ศิริเนตร์
ปุณณภา ยศวริศ
รชตวรรณ แฝงยงค์
วรัญญู มงคลศิริ
อรยา เสน่หา

เรียบเรียงโดย
ปุณณภา ยศวริศ

--

--